ทำความรู้จักกับฐานภาษี มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

23 January 2023
เวลาพูดถึงเรื่องภาษี เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีอาการมึนงง และไม่เข้าใจในเรื่องนี้อย่างแท้จริง ว่าทำไมเราถึงต้องเสียภาษี ตลอดจนไม่แน่ใจว่าจะคำนวณภาษีได้ถูกต้องหรือไม่ แต่สองสิ่งที่ไม่มีวันพรากจากชีวิตเราเลยคือ ความตาย กับ ภาษี
วันนี้ Daywork เลยจะมาไขข้อสงสัย และพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับฐานภาษี ว่ามีกี่ประเภท และมีอะไรบ้าง เพื่อจะได้เป็นการเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนที่จะยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องกัน!
เริ่มจาก ฐานภาษี (TAX BASE) ก็คือ สิ่งที่เป็นเงื่อนไข หรือมูลเหตุขั้นต้นที่ทำให้เกิดบุคคลที่จะต้องเสียภาษี หรือสิ่งที่จะใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีอากร
โดยฐานภาษีที่สำคัญ ได้แก่
- เงินได้ (Income) เป็นฐานภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลที่รายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องเสียภาษี
- ทรัพย์สิน (Property) เป็นฐานภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลที่มีทรัพย์สินอันอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เสียภาษี ซึ่งได้แก่ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีรถยนต์ ภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ภาษีกองมรดก
- สินค้าและบริการ (Goods and Servies) เป็นฐานภาษีที่เรียกเก็บจากบุหรี่ สุรา การสั่งสินค้าเข้า การแสดงมหรสพ หรือที่เรียกว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร อากรมหรสพ
- สิทธิพิเศษในการประกอบการ (Licences) เป็นฐานภาษีที่เรียกเก็บจากค่าธรรมเนียมในการอนุญาตให้ประกอบกิจการ ไม่ว่าจะมีลักษณะผูกขาดหรือไม่
ปรเภทของฐานภาษี จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ภาษีจัดเก็บจากฐานรายได้ : เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ของบุลคลธรรมดา
- ภาษีเก็บจากฐานบริโภค : เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร
- ภาษีเก็บจากฐานทรัพย์สิน : เช่น ภาษีรถยนต์ ภาษีโรงเรือง และที่ดิน
ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร? ( vat 7%)
ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง มูลค่าของสินค้า และบริการที่จะถูกนำไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของสินค้า และบริการดังนี้
1. ฐานภาษีกรณีทั่วไป
(จากมาตรา 79) ฐานภาษีกรณีทั่วไป คือ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้า หรือให้บริการ รวมไปถึงภาษีสรรพสามิต แต่ไม่รวมถึง
1.1ส่วนลด หรือค่าลดหย่อน ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ลดให้ในขณะขายสินค้า หรือให้บริการและได้หักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนดังกล่าวออกจากราคาสินค้า หรือราคาค่าบริการ โดยได้แสดงให้เห็นไว้ชัดแจ้งว่าได้มีการหักส่วนลด หรือค่าลดหย่อนไว้ในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่ออกแล้ว ทั้งนี้เว้นแต่ส่วนลดห รือค่าลดหย่อนในการขายสินค้า หรือให้บริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 หรือมาตรา 86/7 ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะไม่แสดงส่วนลดหรือค่าลดหย่อนดังกล่าว ให้เห็นชัดแจ้งไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อก็ได้
1.2 ค่าชดเชย หรือเงินอุดหนุนตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
1.3 ภาษีขาย
1.4 ค่าตอบแทนที่มีลักษณะ และเงื่อนไขตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
2. ฐานภาษีการส่งออก
(จากมาตรา 79/1) การส่งออกสินค้า : ฐานภาษีสำหรับการส่งออก ให้ใช้ราคา F.O.B รวมกับ ภาษีสรรพสามิต รวมกับ ภาษีอื่น ๆ และรวม ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ แต่ไม่รวมอากรขาออก เงินมัดจำ ไม่ใช่ฐานภาษีสำหรับการส่งออก ไม่เสีย Vat แต่ฐานภาษีสำหรับการส่งออกคือ ราคา F.O.B
3. ฐานภาษีการนำเข้า
(จากมาตรา 79/2) การนำเข้าสินค้า : ฐานภาษีสำหรับการนำเข้า ให้ใช้ราคา C.I.F. รวมกับภาษีสรรพสามิต รวมกับอากรขาเข้า
- ราคา F.O.B. คือ ราคา ณ ด่านศุลกากร ไม่รวมกับค่าขนส่ง และค่าประกันภัย
- ราคา C.I.F. คือ ราคารวมประกันภัย กับค่าระวางหรือค่าขนส่ง ราคา C.I.F. อาจถือตามราคาที่กรมศุลกากรกำหนด
4. ฐานภาษีกรณีพิเศษ
4.1 (จากมาตรา 79/3) การขายสินค้าหรือให้บริการ ที่ไม่มีค่าตอบแทน หรือ มีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มูลค่าของฐานภาษีที่จะนำมาคำนวณ ให้ยึดตามราคาตลาดทั่วไป
4.2 การนำสินค้าไปใช้เอง โดยไม่ใช่เพื่อการประกอบกิจการ มูลค่าของฐานภาษีคือตามราคาตลาด
4.3 สินค้าขาดจาก Stock มูลค่าของฐานภาษี คือ ราคาตลาด ณ วันที่ตรวจพบสินค้า ถือว่าเป็นวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น
4.4 การขายสินค้าที่ได้เสียภาษีในอัตรา 0 ต่อมาได้กลายเป็นอัตรา 7 ฐานภาษีคือ ราคาตลาดของสินค้านั้นตามสภาพหรือปริมาณ ในวันที่ความรับผิด
4.5 สินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ให้ถือเป็นการขายโดยคิดตามราคาตลาด ณ วันเลิกประกอบกิจการ เป็นฐานภาษี
สำหรับภาษีอากร ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับจัดเก็บจากราษฎร เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือสังคมโดยรวมร่วมกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภาษีอากรมีหลักเกณฑ์ในการจำแนกที่หลากหลาย เช่น จำแนกตามระดับที่จัดเก็บ จำแนกตามวิธีการประเมินภาษี จำแนกด้วยหลักการรับภาษีอากรทั้งทางตรงและทางอ้อม ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะจำแนกด้วยวิธีไหน ประเภทของภาษีอากรที่สำคัญในประเทศไทย ก็จะประกอบไปด้วย 8 ประเภทหลัก ตามนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากกิจการ/ธุรกิจ ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในรูปแบบบริษัทฯ หรือรูปแบบห้างหุ้นส่วน โดยคิดคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิของกิจการ ผู้ประกอบกิจการต้องทำหน้าที่แสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 แบบ คือ ภ.ง.ด 50 สำหรับรอบบัญชี ภายใน 150 วัน หลังจากวันที่ปิดบัญชี และ ภ.ง.ด 51 ที่ต้องยื่นภายในสองเดือนหลังปิดรอบบัญชีครึ่งปี
2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ วิธีหนึ่งในการจัดเก็บภาษีล่วงหน้า ซึ่งเป็นภาษีที่ถูกหักไว้ตั้งแต่ตอนผู้จ่าย หรือคู่ค้าทำการจ่ายเงินได้ให้กับเรา หรือกิจการของเรานั่นเอง (ซึ่งมีอัตราการหักภาษีตั้งแต่ 3%-5% แล้วแต่กรณี) โดยผู้ที่ทำหน้าที่หักภาษีนี้ไว้ ต้องนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ จำนวนเงินที่คิดเพิ่มจากมูลค่าของสินค้า และบริการ (ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ที่ 7%) ซึ่งผู้ประกอบกิจการที่มีรายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านขึ้นไปต่อปี และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร จะต้องทำหน้าที่เรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้ซื้อ และนำส่งให้กับรัฐ โดยผู้ประกอบจะออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อทุกครั้ง และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพากรทุกๆ วันที่ 15 ของเดือน
4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีที่เรียกเก็บสำหรับกิจการที่เฉพาะเจาะจง เช่น การธนาคาร การจำนำ ประกันชีวิต หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดินในเชิงการค้าเพื่อทำกำไร
5. อากรแสตมป์ คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการทำสัญญาร่วมกัน เช่น สัญญาเช่าที่ สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจ้างทำของ เป็นต้น
6. ภาษีศุลกากร คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการนำเข้า หรือส่งออกสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อเป็นกำแพงภาษีป้องกันราคาสินค้า และคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่ปัจจุบันเริ่มลดความสำคัญลง เนื่องจากหลายประเทศรวมตัวกันเปิดการค้าเสรีเพิ่มมากขึ้น
7. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บกับประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพ และมีรายได้เกิดขึ้น รวมถึงมีจำนวนเงินได้ต่อปีเข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งกฏหมายกำหนดให้ผู้มีรายได้ทุกคนต้องยื่นแบบแสดงภาษีทุกปี ถึงแม้จะมีรายได้ไม่ถึงหลักเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม
8. ภาษีสรรพสามิต คือภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการสินค้า และบริการบางประเภท ซึ่งมีเหตุผลสมควรที่ต้องรับภาระทางภาษีสูงกว่าปกติ เช่น สินค้าที่มีลักษณะฟุ่มเฟือย หรือเกิดผลเสียต่อสุขภาพ และสังคม เช่น เหล้า บุหรี่ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ก็คือ โครงสร้างของฐานภาษี ซึ่งทุกคนควรมีความรู้เบื้องต้น และเตรียมตัวให้ดีก่อนที่จะทำการยื่นภาษี เพราะอย่าลืมว่าหากยื่นภาษีไม่ครบ หรือไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม หรือโดนปรับได้ หวังว่าหลังจากนี้ เพื่อนๆ จะมีความเข้าใจในเรื่องฐานภาษีกันมากขึ้นไม่มากก็น้อยน้า!
ติดตาม Daywork ได้ที่ช่องทาง
Facebook : www.facebook.com/daywork.th
Website : www.daywork.co
Linkedin : www.linkedin.com/company/daywork-thailand
Blockdit : www.blockdit.com/dayworkthailand