สรุป! กฎหมายแรงงานที่คนเริ่มทำงานควรรู้

24 April 2023
กฎหมายแรงงาน เป็นสิ่งสำคัญที่คนทำงานต้องรู้ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิประโยชน์ของตัวเอง และเพื่อป้องกันไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย วันนี้ Daywork เลยจัดการมัดรวมข้อกฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างอย่างเราต้องรู้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับวันทำงาน วันหยุด วันลา ตลอดจนเวลาทำงาน และเวลาพัก ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น เรามาดูไปพร้อมๆ กันเลย!
กฎหมายแรงงานคืออะไร?
คือกฎหมายเพื่อแรงงานโดยเฉพาะ ซึ่งหมายรวมถึงทั้งลูกจ้าง และพนักงานต่างๆ ที่อยู่ในระบบของบริษัทนั้นๆ หากเกิดอะไรขึ้นแรงงานจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานนี้ด้วย และเงื่อนไขการลา และหลายๆ อย่างที่แรงงานทำได้ มีแค่ไหน จะมีระบุเอาไว้อย่างชัดเจน
โดยกฎหมายแรงงานนั้น เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิ และหน้าที่ของนายจ้าง เพื่อให้การจ้างงานและการใช้งาน การประกอบกิจการและความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นไปด้วยดี ได้รับประโยชน์ที่เหมาะสม หรือเรียกว่าเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะไม่ได้ประโยชน์แค่ลูกจ้างเท่านั้น แต่นายจ้างก็ต้องได้ด้วยเหมือนกัน
กฎหหมายนี้ จะบัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างการใช้แรงงาน การจัดสถานที่ และอุปกรณ์ในการทำงาน เพื่อให้ผู้ทำงานมีสุขภาพอนามัยที่ดี และปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย พร้อมทั้งได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม
สรุปกฎหมายแรงงานกับการจัดการวันลาของพนักงาน
พนักงาน หรือแรงงานทุกคนมีสิทธิในการลางาน แต่ว่าจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามเงื่อนไขของบริษัท และภายใต้กฎหมายแรงงานด้วย เราจะลาหยุดไปเองแบบดื้อๆ นั้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะวันลา คือ วันที่ลูกจ้างจะสามารถใช้สิทธิในการลาหยุดงานได้ ต้องได้รับการอนุญาตจากนายจ้างก่อน ไม่ว่าจะลาอะไรก็ตาม อาทิ ลาป่าย ลากิจ ลาไปพัฒนาตัวเอง ลาคลอด ฯลฯ ซึ่งสิทธิในการลาในแต่ละอย่างตามกฎหมายจะเป็นแบบไหน เช็กได้ที่นี่ เพื่อที่จะได้ทำตามกฎกันได้อย่างถูกต้อง!
1. การลาป่วย
สำหรับการลาป่วยตามมาตรา 32 นั้นลูกจ้างมีสิทธิลาได้เท่าที่ป่วยจริงๆ หากป่วยและลาตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ที่เป็นวันทำงานจะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ หากในกรณีที่แสดงไม่ได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วัน/ปี
ตามมาตรา 57 นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 57 นี้ จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 146
2. การลาไปทำหมัน
เป็นสิทธิที่ลูกจ้างสามารถลาได้เพื่อการทำหมัน ระยะเวลาขึ้นอยู่กับข้อกำหนดและการออกใบรับรองแพทย์ นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนในวันลา เพื่อทำหมันเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาตามใบรับรองแพทย์
ตามมาตรา 57 นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 57 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (มาตรา 146)
3. การลากิจ (ธุระอันจำเป็น)
การลาสำหรับกรณีที่มีเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วนจำเป็น พนักงานสามารถใช้สิทธิในการลากิจได้เพื่อไปทำธุระจำเป็น ซึ่งการลากิจไปทำอะไรนั้น ก็จะต้องเป็นธุระที่คนอื่นไม่สามารถทำแทนได้ และต้องเป็นการลาภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและตามกฎหมายแรงงาน ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลากิจเท่ากับวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 3 วัน/ปี หากนายจ้างไม่จ่าย อาจจำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ลาเพื่อรับราชการทหาร
ตามมาตรา 35 ลูกจ้างมีสิทธิลารับราชการทหาร เพื่อฝึกวิชาชีพทหารได้ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหารเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 60 วัน/ปี (มาตรา 58) นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 58 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท(มาตรา 146)
5. การลาเพื่อไปพัฒนาความรู้
ตามมาตรา 36 ลูกจ้างมีสิทธิลา เพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ ความสามารถได้ไม่เกิน 30 วัน หรือ 3 ครั้ง/ปี ซึ่งลูกจ้างจะต้องมีหลักสูตร และกำหนดวันเวลาที่แน่นอนชัดเจน
รวมถึงต้องแจ้งต่อนายจ้างไม่น้อยกว่า 7 วันให้ถือเป็นการลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งต้องดูเป็นกรณีไป
6. การลาเพื่อคลอดบุตร
ตามมาตรา 41 ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกิน 98 วัน/ปี ยื่นคำขอเพื่อลาคลอดล่วงหน้าพร้อมใบรับรองแพทย์ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา ไม่เกิน 45 วัน (มาตรา 59) นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 59 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (มาตรา 146)
การลาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น พนักงานมีสิทธิในการใช้วันลาตามเหตุสมควร หากบริษัทไหนไม่ให้ลาจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน
1. โดนเลิกจ้าง จะได้รับค่าจ้างหรือไม่?
ต้องดูเป็นกรณีไปว่าสาเหตุที่โดนเลิกจ้างนั้น เป็นเพราะตัวพนักงานที่ทำผิดกฎเอง หรือทางนายจ้างเลิกจ้าง หากเป็นเพราะนายจ้างเลิกสัญญาโดยไม่บอกให้ทราบล่วงหน้า นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ควรจะได้รับ นับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่เลิกสัญญาจ้าง มีผลโดยให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน
2. นายจ้างบังคับลูกจ้างทำ OT มีความผิดทั้งจำและปรับ จริงหรือไม่?
กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาก่อนได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ดังนั้นหากนายจ้างมีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา จะต้องให้ลูกจ้างยินยอมก่อน อย่างไรก็ตามกรณีที่ลักษณะ หรือสภาพของงานมีความจำเป็นต้องทำติดต่อกัน หากหยุดจะเสียงาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงาน ล่วงเวลาเท่าที่จำเป็นได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากลูกจ้าง
ทั้งนี้ เมื่อมีการทำงานล่วงเวลาแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับลูกจ้าง ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำด้วย และหากเป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำ หากนายจ้างฝ่าฝืนจะมีความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ลาออกจากงาน ต้องแจ้งนายจ้างก่อนล่วงหน้า
ตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ลูกจ้างลาออกต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าไม่บอกก่อน หรือออกไปทันที ไม่รอให้นายจ้างอนุมัติ หากเกิดความเสียหาย นายจ้างสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้
4. เวลาทำงาน และเวลาพักระหว่างทำงาน
กฎหมายกำหนดให้ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนงานที่เป็นอันตราย กำหนดให้ทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้ลูกจ้างไม่ถูกใช้แรงงานหนักจนเกินไป หรือหากทำงานในวันหยุดก็จะต้องได้รับเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนเวลาพัก กฎหมายแรงงาน กำหนดให้มีเวลาพักอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน หากลูกจ้างต้องทำงานล่วงเวลาเกิน 2ชั่วโมง ก็ต้องจัดเวลาให้พักก่อนที่จะเริ่มงานอย่างน้อย 20 นาที
5. ค่าตอบแทน หรือค่าจ้างในการทำงาน
ตามกฎหมายแรงงานมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ ซึ่งนายจ้างห้ามจ่ายค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
กฎหมายแรงงาน เป็นประโยชน์ตั้งต่อแรงงาน และนายจ้างเพื่อมิให้มีฝ่ายใดเอาเปรียบกันได้ โดยเฉพาะในฝ่ายของลูกจ้างที่อาจเสี่ยงต่อการทำงานฟรี ฉะนั้นแล้วหากเรามีสิทธิที่จะใช้วันลา ก็ให้ใช้ให้คุ้ม และหากโดนเลิกจ้างก็ควรจะได้รับเงินตามที่ควรจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าบริษัทไหนไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิด ซึ่งก็จะมีการได้รับโทษตามสมควร
ติดตาม Daywork ได้ที่ช่องทาง
Facebook : www.facebook.com/daywork.th
Website : www.daywork.co
Linkedin : www.linkedin.com/company/daywork-thailand
Blockdit : www.blockdit.com/dayworkthailand